ผลวิจัยพบ “คนที่ไม่มีลูก”ได้ค่าจ้างสูงกว่า “คนมีลูก” ส่งผลคนไม่อยากแต่งงานและไม่มีลูกมากขึ้น ชี้ระยะยาวอาจมีผลต่อแรงงานของประเทศ แนะรัฐออกนโยบายส่งเสริมการมีลูกอย่างจริงจัง
ผศ.ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากงานวิจัยความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างชายหญิง (gender wage gap) พบว่า ช่องว่างของค่าจ้างระหว่างชายกับหญิง ของประเทศไทยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ลดลงอย่างต่อเนื่องจนไม่เหลือช่องว่างแล้ว จากปัจจัยการศึกษาของผู้หญิงในปัจจุบันที่สูงขึ้น, แนวโน้มของผู้หญิงในภาคเกษตรลดน้อยลง จาก 60% มาเหลือเพียง 40% และปัจจัยอาชีพ ลักษณะวิชาชีพ แพทย์ ครู พยาบาล ที่มีความมั่นคง, ค่าจ้างเพิ่มสูงขึ้น ความแตกต่างจึงลดน้อยลง
นอกจากนี้ ยังพบว่า ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานที่มีลูก และไม่มีลูก ทั้งชายและหญิงในประเทศไทยนั้น มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแรงงานชายที่มีลูกได้รับค่าจ้างน้อยกว่าแรงงานชายที่ไม่มีลูก 17% ส่วนแรงงานหญิงที่มีลูกได้รับค่าจ้างน้อยกว่าแรงงานหญิงที่ไม่มีลูก 22% เนื่องจากต้องจัดสรรเวลาไปเลี้ยงลูก ทำให้มีเวลาทำงานลดลง จนถึง ต้องออกจากงาน
เมื่อประกอบกับแนวโน้มสังคมผู้สูงวัยในปัจจุบัน ทำให้มองว่า รัฐบาลควรออกมาตรการบรรเทาปัญหานี้ ต้องทบทวนนโยบายที่ออกมา ว่าเพียงพอจะจูงใจให้คนมีลูกหรือไม่ เพราะภาระค่าใช้จ่ายอยู่ในระดับสูง การลดภาษีจึงอาจไม่ตอบโจทย์ แต่ต้องลดภาระค่าใช้จ่าย หากเพียงพอก็จะสามารถจูงใจให้คนมีลูกได้ รัฐจึงต้องใช้มาตรการยาแรงในการกระตุ้น แต่ประเทศไทยมีทรัพยากรจำกัด และต้องใช้ระยะเวลาการเติบโตถึง 20 ปี กว่าจะเข้าสู่วัยแรงงาน ฉะนั้นต้องพิจารณาหลายมิติเพื่อผลในระยะยาว ให้เด็กมีทั้งการศึกษาและสาธารณสุขที่ดีพอ