Marginal คืออะไร หลักคิดเศรษฐศาสตร์เพื่อการตัดสินใจที่คุ้มค่า
Student blog — 08/04/2025

เพิ่มทีละหนึ่ง แล้วค่อยตัดสินใจ บนพื้นฐานของ Marginal
ใครที่เรียนเศรษฐศาสตร์มักเจอคำว่า Marginal แปลเป็นภาษาไทยว่า ส่วนเพิ่ม หรือ หน่วยท้ายสุด สำหรับความเข้าใจเกี่ยวกับ Marginal สามารถใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจในทางธุรกิจและในชีวิตประจำวัน การที่เราจะตัดสินใจได้ก็ต่อเมื่อเราได้มีการเปรียบเทียบระหว่างสิ่งที่ได้มาที่เราคิดว่าเป็นประโยชน์(Marginal Benefit) กับสิ่งที่ต้องเสียไป(Marginal Cost)
ในทางเศรษฐศาสตร์ เราจะใช้แนวคิดของ Marginal ทั้งในเศรษฐศาสตร์มหภาคและเศรษฐศาสตร์จุลภาค สำหรับในส่วนของเศรษฐศาสตร์จุลภาค เช่น
อรรถประโยชน์(Utility) : อรรถประโยชน์หน่วยท้ายสุดหรืออรรถปรโยชน์ส่วนเพิ่ม (Marginal Utility : MU)เป็นการพิจารณาอรรถประโยชน์หรือความพอใจที่ผู้บริโภค ได้รับเพิ่มขึ้น จากการบริโภคสินค้าหรือบริการชนิดนั้นเพิ่มขึ้นหนึ่งหน่วย
ทฤษฎีการผลิต : ผลผลิตหน่วยท้ายสุดหรือผลผลิตส่วนเพิ่ม (Marginal Product : MP)เป็นจำนวนผลผลิตที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเปลี่ยนแปลงปัจจัยผันแปร 1 หน่วย
ต้นทุนการผลิต : ต้นทุนหน่วยท้ายสุดหรือต้นทุนเพิ่ม (Marginal Cost : MC) เป็นต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อปริมาณผลผลิตหรือผู้ผลติขายสินค้าเปลี่ยนแปลงไป 1 หน่วย
รายรับหน่วยท้ายสุดหรือรายรับเพิ่ม (Marginal Revenue : MR) เป็นรายรับที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อปริมาณผลผลิตหรือผู้ผลิตขายสินค้าเปลี่ยนแปลงไป 1 หน่วย
ในส่วนของเศรษฐศาสตร์มหภาค เช่น
ความโน้มเอียงหน่วยสุดท้ายในการบริโภค (Marginal Propensity to Consume) คือ ค่าที่แสดงว่าการบริโภคจะ เปลี่ยนแปลงไปเป็นสัดส่วนเท่าใด เมื่อระดับรายได้สุทธิส่วนบุคคลเปลี่ยนแปลงไป 1 หน่วย
ความโน้มเอียงหน่วยสุดท้ายในการออม (Marginal Propensity to Save) คือ ค่าที่แสดงว่าการออมจะ เปลี่ยนแปลงไปเป็นสัดส่วนเท่าใด เมื่อระดับรายได้สุทธิส่วนบุคคลเปลี่ยนแปลงไป 1 หน่วย
ความโน้มเอียงหน่วยท้ายสุดในการลงทุน (Marginal Propensity to Invest: MPI) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงในปริมาณการลงทุน เมื่อรายได้ประชาชาติเปลี่ยนแปลงไป 1 หน่วย
ความโน้มเอียงหน่วยท้ายสุดในการนำเข้า (MPM) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงในมูลค่าของสินค้านำเข้า เมื่อรายได้ประชาชาติเปลี่ยนแปลงไป 1 หน่วย
ตัวอย่างของการใช้ แนวคิดของ Marginal ในการตัดสินใจทางธุรกิจคือ การพิจารณาจากรายรับหน่วยท้ายสุดหรือรายรับส่วนเพิ่ม (Marginal Revenue : MR) และ ต้นทุนหน่วยท้ายสุดหรือต้นทุนส่วนเพิ่ม (Marginal Cost : MC) หมายความว่าผู้ผลิตหรือหน่วยธุรกิจจะพิจาณาว่าเมื่อการการขยายการผลิตเพิ่มขึ้น 1 หน่วย รายรับที่เพิ่มขึ้นจะเท่ากับเท่าใด และ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะเท่ากับเท่าใด ตามลำดับ หาก ณ ปริมาณผลผลิตที่พิจารณาอยู่ ต้นทุนที่เพิ่มมากกว่ารายรับที่เพิ่ม ผู้ผลิตหรือหน่วยผลิตจะลดการผลิตลง และเมื่อใดที่ปริมาณผลผลิตที่พิจารณาอยู่ ทำให้ต้นทุนที่เพิ่มน้อยกว่ารายรับที่เพิ่ม ผู้ผลิตหรือหน่วยผลิตจะเพิ่มการผลิต และเมื่อใดก็ตามที่รายรับที่เพิ่มเท่ากับต้นทุนที่เพิ่ม จะได้ดุลยภาพที่ทำให้ได้รับปริมาณผลผลิตที่เหมาะสมที่สุดกล่าวคือ ณ ปริมาณผลผลิตนั้น ผู้ผลิตจะได้รับกำไรสูงสุดหรือหากจำเป็นต้องขาดทุน จะขาดทุนน้อยที่สุด
แม้ในชีวิตประจำวัน เราก็มีการใช้แนวคิดของ Marginal ด้วยเช่นกัน เราไปร้านอาหารแล้วพบว่ากระเพาะปลาที่เรารับประทานไปในชามแรก ทำให้เรามีความพอใจเป็นอย่างมาก เพราะเรารู้สึกหิวมากเนื่องจากต้องใช้เวลาเดินทางกว่าจะมาถึงร้านอาหารแห่งนี้ เราจึงคิดว่าเราจะสั่งกระเพาะปลาชามที่ 2 ดีหรือไม่(Marginal Utility) ซึ่งเราต้องพิจารณาแล้วว่าการสั่งกระเพาะปลาชามที่ 2 จะต้องมีการจ่ายเงินเพิ่มขึ้น(Marginal Cost) หรือกรณีที่เราทำงานล่วงเวลา (Over time) ก็ต้องพิจาณาแล้วว่าการทำงานเพื่อเอาค่าล่วงเวลา โดยเพิ่มชั่วโมงการทำงาน ไปอีก 1-2 ชั่วโมง จะได้รับเงินค่าล่วงเวลาเพิ่มขึ้นเท่าใด(Marginal Benefit) เปรียบเทียบกับความเหน็ดเหนื่อยที่จะได้รับ (Marginal Cost) จะเห็นว่าการใช้แนวคิดของ Marginal จะทำให้การตัดสินใจของเราดีขึ้น เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น ดังที่กล่าวมาแล้ว
ผู้เขียน : ผู้ช่วยศาสตราจารย์กนกพร แสงวารี