Blog

อยากทำงานสายประกัน-การเงินไหม มาดูใบอนุญาตที่ต้องมี

economics

อยากทำงานสายประกัน-การเงินไหม มาดูใบอนุญาตที่ต้องมี

Student blog — 01/04/2025

อยากทำงานสายประกัน-การเงินไหม มาดูใบอนุญาตที่ต้องมี

ใครอยากทำงานสายประกัน – การเงินบ้างยกมือขึ้น

สถาบันการเงินนับว่ามีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ ธนาคารพาณิชย์เป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีบทบาทในการให้บริการที่กว้างขวางขึ้น นอกจากรับฝากเงิน ปล่อยสินเชื่อแล้วยังมีบริการอื่นๆ ที่สนองต่อความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น เช่น การให้คำปรึกษาทางการเงิน การให้บริการเสนอขายประกันชีวิต เป็นต้น ทำให้ผู้ที่ต้องการทำงานในสถาบันการเงิน จำเป็นต้องมีองค์ความรู้ที่เป็นมาตรฐานเพื่อรองรับการทำงาน โดยต้องมีใบอนุญาต (License)และวุฒิวิชาชีพ (Certificate)ประกอบ ทั้งนี้การมีใบอนุญาต(License)และวุฒิวิชาชีพ (Certificate) ยังเป็นการช่วยเพิ่มการเติบโตในสายอาชีพ(Career Path)ดังกล่าวมากขึ้นด้วย คำถามคือ แล้วสำหรับประเทศไทยในการทำงานสายสายประกัน-การเงินมีอาชีพใดบ้างที่ต้องมีใบอนุญาต (License)และวุฒิวิชาชีพ (Certificate) ในที่นี้ขอกล่าวถึงใบอนุญาต (License)และวุฒิวิชาชีพ (Certificate)คร่าว ๆ 5 ประเภทดังนี้
ตัวแทนขายประกันภัย ตัวแทนขายประกันวินาศภัย (Agent) นายหน้าประกันภัย นายหน้าประกันวินาศภัย (Broker) โดยตัวแทนขายประกันภัย ตัวแทนขายประกันวินาศภัย (Agent)ทำหน้าที่ดูแลและนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยทุกประเภท ให้ตรงตามความต้องการของผู้ต้องการทำประกัน โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์เฉพาะบริษัทประกันภัยที่ตนเองสังกัดเท่านั้น ส่วนนายหน้าประกันภัย นายหน้าประกันวินาศภัย (Broker)ไม่ต้องสังกัดบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ให้บริการในการจัดหาลูกค้าและบริษัทประกันภัยมาพบกันเพื่อสร้างยอดขาย ทั้งนี้ผู้ที่ต้องการเป็นตัวแทนขายประกันภัย ตัวแทนขายประกันวินาศภัย (Agent) นายหน้าประกันภัย นายหน้าประกันวินาศภัย(Broker) ต้องผ่านการทดสอบและมีใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับ และส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
ผู้แนะนำการลงทุน (Investment Consultant : IC) ทำหน้าที่แนะนำหรือชักชวนให้ผู้ลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต้องได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่จากต้นสังกัดที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ธนาคาร หรือบริษัทประกันชีวิต เป็นต้น โดย ผู้แนะนำการลงทุน (Investment Consultant :IC) สามารถแบ่งเป็น 4 ประเภท คือผู้แนะนำการลงทุนตราสารทั่วไป(IC plain) ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 3(IC complex 3) ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 2(IC complex 2) ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 1(IC complex 1)
ผู้วางแผนการลงทุน (Investment Planner : IP ) มีหน้าที่ให้คำแนะนำการลงทุนแก่ผู้ลงทุนและสามารถวางแผนการลงทุนให้ลูกค้าได้ด้วย โดยใช้ข้อมูลเชิงลึกของลูกค้ามาประกอบกับการวางแผนการลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งสอดคล้องกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ตามวัตถุประสงค์การลงทุนของลูกค้าแต่ละราย
นักวางแผนการเงิน CFP (CERTIFIED FINANCIAL PLANNER : CFP) เป็นผู้ที่ให้คำแนะนำและจัดทำแผนการเงินเฉพาะด้านหรือแบบบูรณาการที่ครอบคลุมทั้งแผนการประกันชีวิต แผนการลงทุน แผนเพื่อวัยเกษียณ และแผนภาษีและมรดก ภายใต้ข้อจำกัดและเงื่อนไขเฉพาะของแต่ละบุคคลโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่งคั่งและมีมาตรการในการคุ้มครองความมั่งคั่งที่เหมาะสมเพียงพอทำให้ลูกค้าสามารถบรรลุเป้าหมายการเงินตามต้องการ เช่น มีเงินทุนเพียงพอสำหรับเป้าหมายในอนาคตและมีชีวิตบั้นปลายภายหลังเกษียณอย่างมีความสุข
ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™(Associate Financial Planner Thailand : AFPT™) ให้บริการวางแผนหรือปรึกษาการเงินซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่ ที่ปรึกษาการเงินด้านการลงทุน และ ที่ปรึกษาการเงินด้านการประกันชีวิตและวางแผนเพื่อวัยเกษียณ

ทั้งนี้การที่จะทำหน้าที่ต่าง ๆตามขอบเขตของใบอนุญาต (License)และวุฒิวิชาชีพ (Certificate)ได้นั้นต้องผ่านการอบรมและผ่านการทดสอบในหลักสูตรต่าง ๆ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือสมาคมนักวางแผนการเงินไทย หรือ คณะกรรมการมาตรฐานการวางแผนการเงิน (Financial Planning Standards Board Ltd. – FPSB) ประเทศสหรัฐอเมริกากำหนด

ตารางที่ 1 ประเภทของคุณวุฒิวิชาชีพและใบอนุญาตและหน้าที่ที่รับผิดชอบ

ประเภทของคุณวุฒิวิชาชีพและใบอนุญาต หน้าที่ที่รับผิดชอบ
ใบอนุญาตนายหน้า/ตัวแทนประกันภัย นายหน้า เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล
ตัวแทนเป็นบุคคลธรรมดา
ผ่านการทดสอบและมีใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
ใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุนด้านหลักทรัพย์ Securities Investment Consultant : IC สามารถแนะนำผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนได้ เป็นรายตัวผลิตภัณฑ์ รับรองมาตรฐานโดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กลต.
ใบอนุญาตผู้วางแผนการลงทุน Investment Planner : IP สามารถวางแผนการลงทุนโดยการกำหนดกลยุทธ์และแผนการปฏิบัติการลงทุนด้วยการจัดพอร์ตการลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (การใช้ข้อมูลลูกค้าในเชิงลึกเกี่ยวกับสินทรัพย์ เป้าหมายการลลงทุนให้กับลูกค้าเฉพาะราย ) เพื่อให้ลูกค้าได้รับผลตอบแทนตามเป้าหมายและตามวัตถุประสงค์ รับรองมาตรฐานโดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
คุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP รับรองมาตราฐานการวางแผนการเงิน ที่สามารถวางแผนการเงินได้ แบบรอบด้าน ครอบคลุมการวางแผนการเงินทั้งหมดเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน จาก คณะกรรมการมาตรฐานการวางแผนการเงิน (Financial Planning Standards Board Ltd. – FPSB) ประเทศสหรัฐอเมริกา
คุณวุฒิวิชาชีพที่ปรึกษาการเงิน AFPT™ รับรองมาตรฐานการวางแผนการเงิน ตามสายงานที่ขึ้นทะเบียน ที่สามารถวางแผนการเงินได้ ภายใต้การดูแลของ นักวางแผนการเงิน CFP รับรองมาตรฐานโดย สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ที่มา : ผศ.กนกพร แสงวารี ปรับปรุงจาก https://thaipfa.co.th/news/view/155
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้มีความร่วมมือกับ ศูนย์ทดสอบมาตรฐานความรู้ ATI Digital Testing Center (ATI) จัดให้มีการสอบ Mock Exam สำหรับนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ผ่านการสอบ Mock Exam จะได้สิทธิในการเข้าสอบจริง และได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการสมัครสอบ เพื่อรับใบอนุญาต IC Plain ได้ เป็นการเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาตั้งแต่ยังไม่จบการศึกษา

ที่มาข้อมูล :
https://thaipfa.co.th
https://www.fininsurance.co.th
https://vinsure.viriyah.co.th/blog/agent-broker

ฝ่ายวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ผู้เขียน : ผู้ช่วยศาสตราจารย์กนกพร แสงวารี