ผลกระทบการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยต่อเศรษฐกิจ
Student blog — 27/01/2025

ในการเรียนเศรษฐศาสตร์โดยเฉพาะในด้านเศรษฐศาสตร์การเงินนั้น ผู้สอนมักได้รับคำถามจากนักศึกษาว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ของธนาคารแห่งประเทศไทย จะมีผลกระทบด้านใดในทางเศรษฐกิจบ้าง
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้กล่าวไว้กับมติชน (ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2567) เกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% (ประกาศปรับลดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567) ระบุว่า
การลดดอกเบี้ยคาดว่าจะไม่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของการก่อหนี้เกินตัว ขณะที่ส่งผลบวกต่อการลดภาระต้นทุนทางการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมา 0.25% จะทำให้ลดเงินผ่อนชำระสินเชื่อบ้านและรถยนต์รายเดือนลง โดยเฉพาะจะส่งผลบวกต่อผู้กู้เงินอัตราดอกเบี้ยลอยตัวมากที่สุด ส่งผลดีต่อผู้กู้เงินสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนภาคธุรกิจจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนทางการเงินที่ลดลงมากที่สุดในกรณีเป็นเงินกู้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว และมีแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยอาจปรับลดลงได้อีกในช่วงต้นปีหน้า
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะ 6-12 เดือนข้างหน้า อีกทั้งการลดดอกเบี้ยนโยบายบรรเทาการเร่งตัวของหนี้เสียอสังหาฯล่าสุดลามกลุ่มบ้านราคา 5-7 ล้านบาท
นอกเหนือจากนี้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยบรรเทาการเร่งตัวขึ้นของหนี้เสียสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์โดยขณะนี้ปัญหาหนี้เสียลามมายังกลุ่มบ้านราคา 5-7 ล้านบาทซึ่งมักจะเป็นเจ้าของสถานประกอบการขนาดเล็กที่มีปัญหากระแสเงินสด นอกจากนี้ สถาบันการเงินยังปฏิเสธสินเชื่อกลุ่มราคาบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาทโดยกลุ่มนี้มักจะเป็นครัวเรือนที่มีหนี้สินสูงรายได้ไม่พอรายจ่าย มียอดการปฏิเสธสินเชื่อสูงถึง 60-70% ปัญหาการหดตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นผลจากการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ภาวะอุปทานส่วนเกินและอุปสงค์ภายในที่ชะลอตัว ส่วนแรงซื้อคอนโดและอาคารชุดจากต่างชาติยังขยายตัวได้โดยเฉพาะแรงซื้อจากกลุ่มรายได้สูงในประเทศเมียนมา กิจการอสังหาริมทรัพย์จึงมีลักษณะเป็นการทยอยค่อยๆฟื้นตัว ในภาวะดอกเบี้ยเริ่มทยอยลดลง การเร่งระบายบ้านและคอนโดพร้อมขายในตลาด จะเป็นโอกาสของผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์
การปล่อยสินเชื่อแบบยั่งยืนและรับผิดชอบของสถาบันการเงินภายใต้การกำกับของแบงก์ชาติ จะมีส่วนทำให้เกิดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินและลดความเสี่ยงการก่อหนี้เกินตัวได้ การลดดอกเบี้ยแล้วทำให้ครัวเรือนหรือธุรกิจไปก่อหนี้เกินตัว เกิดหนี้เสียกระทบต่อระบบการเงินจึงไม่เกิดขึ้นหากมีการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)
ส่วนความพยายามลดระดับหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยที่อยู่ในระดับสูงมากนั้น ต้องใช้มาตรการและการดำเนินการเพิ่มรายได้ เพิ่มจีดีพี จึงทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลงมาได้ โดยควรมีเป้าหมายให้ดึงลงมาต่ำกว่า 80% จากระดับ 88.5-89% ในขณะนี้ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเคยไปทะลุระดับ 91% ในปี พ.ศ. 2566 ในระยะหนึ่งปีข้างหน้า สัญญาณของการด้อยคุณภาพอาจเริ่มกระจายจากครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยไปยังกลุ่มรายได้ที่สูงขึ้น มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมบวกกับการมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการการคลังและมาตรการเศรษฐกิจอื่นๆเพิ่มเติมช่วงปลายปีต่อเนื่องจนถึงต้นปีหน้ามีความจำเป็นที่ทำให้การเติบโตเศรษฐกิจเป็นไปตามเป้าหมายและเป็นการบรรเทาปัญหาความลุกลามของหนี้เสียได้ นอกจากนี้ นโยบายและมาตรการที่ทำให้เกิดการกระจายตัวของรายได้และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องที่ทางการต้องให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ โดยที่การขยายตัวของรายได้ต้องเกิดจากผลิตภาพที่เพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนในการยกระดับประสิทธิภาพการผลิต ทรัพยากรมนุษย์ การวิจัยและการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ดอกเบี้ยลดลงจะส่งผลลบระยะสั้นต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่มีโครงสร้างสินเชื่อดอกเบี้ยลอยตัวในสัดส่วนที่สูง ทำให้รายได้ดอกเบี้ยเงินกู้ลดลงทันที อย่างไรก็ตาม ธนาคารจำนวนหนึ่งจะลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในสัดส่วนที่มากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อรักษากำไรจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ ขณะที่ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐจะลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แต่อาจไม่ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เป็นการช่วยเหลือประชาชนผู้ฝากเงิน แต่อาจทำให้ผลการดำเนินงานของธนาคารเหล่านี้ปรับตัวลดลงได้
การปรับลดอัตราดอกเบี้ย ส่งผลบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดการเงินอย่างชัดเจน เห็นได้ชัดเจนจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น ทางเลือกเพื่อการลงทุนและการออมเงินในรูปแบบอื่นๆนอกเหนือจากผลิตภัณฑ์เงินฝากจะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น
แนวทางการให้สินเชื่อแบบยั่งยืนและอย่างมีความรับผิดชอบจะทำให้เกิดประสิทธิผลได้ เมื่อสถาบันการเงินต่างๆได้นำแนวปฏิบัติของแบงก์ชาติไปปรับใช้ในการปล่อยสินเชื่อ อันประกอบไปด้วย 1. มีเจตนารมณ์ในการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ ไม่มุ่งหาผลกำไรและก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาวต่อลูกหนี้ เจตนารมณ์นี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการและผู้บริหารสถาบันการเงิน 2. การคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียตามหลักการ ESG 3. การกำหนดนโยบายและกระบวนการทำงานภายในในการปล่อยสินเชื่อและการบริหารความเสี่ยงที่ได้มาตรฐาน 4. การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส
จากการวิเคราะห์ในเชิงเศรษฐกิจที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ถือเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจด้านเศรษฐศาสตร์การเงินได้นำข้อมูลไปวิเคราะห์ต่อและนำไปใช้ประโยชน์ได้บ้างไม่มากก็น้อย
Cr. มติชน, มติชนออนไลน์