เข้าใจต้นทุนที่ซ่อนอยู่ ผ่านมุมมองเศรษฐศาสตร์ – พื้นฐานสำคัญสำหรับนักเรียนที่สนใจเรียนต่อคณะนี้
Student blog — 08/04/2025

เมื่อคิดจะเลือก จะมีต้นทุนที่ซ่อนอยู่เสมอ
ต้นทุน(Cost)คือค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการผลิตสินค้าหรือบริการ เราสามารถแบ่งต้นทุนได้หลายลักษณะ เช่น ต้นทุนที่แบ่งตามลักษณะส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ ซึ่งประกอบด้วย1. ต้นทุนจากวัตถุดิบ 2. ค่าแรงงาน 3. ต้นทุนจากค่าใช้จ่ายในการผลิต ต้นทุนที่แบ่งตามพฤติกรรม ซึ่งประกอบด้วย1. ต้นทุนผันแปร (Variable cost) 2. ต้นทุนคงที่ (Fixed cost) 3. ต้นทุนผสม (Mixed cost) หรือต้นทุนที่แบ่งตามลักษณะของปัญหาเพื่อการตัดสินใจ ซึ่งประกอบด้วย1. ต้นทุมจม (sunk cost) 2. ต้นทุนที่หลีกเลี่ยงได้ เป็นค่าใช้จ่ายที่จะประหยัดได้หากมีการตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง 3. ต้นทุนเสียโอกาส 4. ต้นทุนส่วนแตกต่าง เป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้บริหารจะนำมาพิจารณาว่ามีความแตกต่างกันจำนวนเท่าใดถ้าตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง 5. ต้นทุนเพิ่มต่อหน่วย เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เมื่อเพิ่มปริมาณผลิตขึ้น 1 หน่วย เป็นต้น ซึ่งต้นทุนดังที่กล่าวมาแล้วมักเป็นต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่สามารถบันทึกตัวเลขทางบัญชีได้ ยกเว้นต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) ซึ่งเป็นต้นทุนที่มีลักษณะพิเศษ กล่าวคือเป็นลักษณะของ “ต้นทุนที่ซ่อนอยู่” ที่เกิดจากเราต้องตัดสินใจเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เนื่องจากเราไม่สามารถเลือกทุกอย่างไปพร้อม ๆ กัน เพราะในทางเศรษฐศาสตร์บอกว่าทรัพยากรมีจำกัด จึงจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด คำถามคือ ต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) คืออะไร วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน ได้ให้ความหมายของต้นทุนค่าเสียโอกาส ไว้ว่า คือคุณค่าหรือมูลค่า(Value)ของทางเลือก (Choice)ที่ดีที่สุดในบรรดาทางเลือกทั้งหลายที่ต้องสละไป (the best alternative forgone) เมื่อมีการตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่งในการใช้ทรัพยากรนั้น
ตัวอย่าง ในช่วงหยุดเรียนภาคฤดูร้อน น้องหมีเนยต้องการไปหารายได้พิเศษเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของมัมหมี โดยมีงานที่สามารถเลือกได้ดังนี้
- 1.1 เป็นแอดมินออนไลน์ มีรายได้ 6,000บาทต่อเดือน
- 1.2 ออกคอนเสริต์ มีรายได้ 9,000บาทต่อเดือน
- 1.3 เป็นนักแสดงประกอบ มีรายได้ 8,500บาทต่อเดือน
- 1.4 ทำกราฟฟิก มีรายได้ 7,000บาทต่อเดือน
สมมติว่า น้องหมีเนยเป็นคนที่มีเหตุผล ( Economic Rationality) และใช้ความรู้เรื่องต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost)มาพิจารณา น้องหมีเนยจะเลือกการออกคอนเสริต์ ซึ่งจะทำให้มีรายได้ 9,000บาทต่อเดือน เพราะมีต้นทุนค่าเสียโอกาสต่ำที่สุด กล่าวคือ
งาน | ต้นทุนค่าเสียโอกาส |
เป็นแอดมินออนไลน์ ได้รายได้ 6,000บาทต่อเดือน | 9,000บาท |
ออกคอนเสริต์ มีรายได้ 9,000บาทต่อเดือน | 8,500บาท |
เป็นนักแสดงประกอบ ได้รายได้ 8,500บาทต่อเดือน | 9,000บาท |
ทำกราฟฟิก ได้รายได้ 7,000บาทต่อเดือน | 9,000บาท |
นอกจากแนวคิดเรื่องต้นทุนค่าเสียโอกาส สามารถนำไปใช้ในเรื่องอื่น ๆได้ เช่น หากเลือกเรียนปริญญาโท จะทำให้เสียโอกาสในการทำงานและรับรายได้ในช่วงเวลานั้น ดังนั้นต้นทุนค่าเสียโอกาสที่จะเกิดขึ้นคือรายได้ที่จะได้รับจากการทำงาน เพราะต้องทุ่มเทกับการเรียน หรือการเลือกลงทุนในหุ้น A คุณอาจพลาดโอกาสในการลงทุนในทองคำ ที่อาจให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ต้นทุนค่าเสียโอกาสคือผลตอบแทนที่อาจได้รับจากการลงทุนในทองคำ เป็นต้น จะเห็นว่าการทำความเข้าใจในเรื่องต้นทุนค่าเสียโอกาส จะช่วยให้การตัดสินใจมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ต้นทุนค่าเสียโอกาสไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเงินเท่านั้น แต่อาจหมายถึงสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น เวลา ความสุข ความสงบ โอกาสความก้าวหน้าในการทำงาน หรือสิ่งอื่น ๆ ได้เช่นกัน
ผู้เขียน : ผู้ช่วยศาสตราจารย์กนกพร แสงวารี